EN TH

นารายณ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ปเลือกจับมือกับ Heatherwick Studio เพราะเชื่อมั่นในความสามารถด้านการสร้างสถาปัตยกรรมที่ไม่เพียงโดดเด่นบนเส้นขอบฟ้า แต่ยังเชื่อมโยงกับผู้คนอย่างลึกซึ้ง เราได้พูดคุยกับคุณโทมัส ถึงปรัชญาการออกแบบของเขา ความสำคัญของอารมณ์ความรู้สึกในงานสถาปัตยกรรม และเหตุผลที่ทำให้โครงการ HATAI พิเศษไม่เหมือนใคร

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณอยากก่อตั้ง Heatherwick Studio?

ผมก่อตั้งสตูดิโอขึ้นเพราะรู้สึกว่า มีช่องว่างในโลกของการสร้างเมืองที่ยังรอการเติมเต็มอยู่

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แนวคิดเรื่องการออกแบบเมืองเริ่มลดทอนความเป็นมนุษย์ลงเรื่อย ๆ

สตูดิโอของเราพยายามออกแบบโครงการที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกและจิตใจของผู้คน โครงการที่สนับสนุนให้ผู้คนในเมืองมีสุขภาพจิตที่ดี และมีความยั่งยืนมากขึ้นไปในเวลาเดียวกัน เพราะถ้าผู้คนไม่รู้สึกผูกพันกับอาคาร ก็มีแนวโน้มที่อาคารนั้นจะถูกรื้อถอน ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อม

เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเราคือการสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ผู้คนรู้สึกรักและผูกพัน เรากำลังเรียนรู้ว่าอะไรที่จะทำให้โครงการหนึ่งสามารถเข้าถึงผู้คนได้อย่างกว้างขวางที่สุด นี่คือสิ่งที่น่าสนใจและสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำให้เมืองต่างๆของเรากลับมาเป็นเมืองสำหรับมนุษย์อีกครั้ง

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คุณตัดสินใจรับโปรเจค HATAI?

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงระดับโลก และประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันล้ำค่า แต่หลายเมืองในเอเชีย เมื่อเศรษฐกิจถูกพัฒนามากขึ้นก็กลับกลายเป็นเมืองที่เหมือนกันไปซะหมด อาคารที่สร้างขึ้นก็มักจะไม่มีเอกลักษณ์ ถึงแม้จะดูหรูหราและอินเตอร์แค่ไหนก็ตาม

แต่เราอยากสร้างอาคารและโครงการที่เชื่อมโยงกับมรดกทางวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง แทนที่จะเป็นอาคารโมเดิร์นที่ดูว่างเปล่า แข็งกระด้าง และไม่น่าจดจำ

วัฒนธรรมไทยอันเป็นที่รักนั้นเต็มไปด้วยรายละเอียดที่งดงามและชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์ เครื่องประดับตกแต่ง หรือศาลเจ้า เราเพียงแต่ต้องหาวิธีนำเสนอสิ่งเหล่านี้ในรูปแบบใหม่ที่ยังคงต้องมี “ตึกสูง” เป็นองค์ประกอบหลักด้วย!

วิสัยทัศน์ของโครงการนี้คืออะไร?

นารายณ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป มอบหมายให้เราสร้าง “ย่านใหม่” ที่รวมโรงแรม พื้นที่ค้าปลีก พื้นที่ทำงาน พื้นที่สาธารณะเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งต้องมีส่วนประกอบที่แสดงความรำลึกถึงลำคลองที่เคยไหลผ่านพื้นที่นี้ แปลว่าเราต้องสร้างพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ประมาณ 7,000 ตารางเมตร

เราตื่นเต้นกับโครงการที่มีพื้นที่สาธารณะที่ใครก็สามารถเดินเข้ามาได้เป็นอย่างมาก เพราะโครงการลักษณะนี้ช่วยทำให้เมืองมีชีวิตชีวาและเปิดโอกาสให้คนพบปะกันมากขึ้น แทนที่จะค่อยๆทำลายเอกลักษณ์ของเมืองลงไปเมื่อมีการสร้างหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างอาคารใหม่ๆ

คุณทำอย่างไรให้โครงการขนาดใหญ่ยังคงความเป็นมนุษย์เอาไว้ได้?

อาคารและเมืองมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่สัดส่วนของมนุษย์ไม่ได้ใหญ่ขึ้น เรายังคงต้องการสถานที่ที่เข้าใจและเอื้ออำนวยต่อความต้องการของมนุษย์

เมืองในร้อยปีที่ผ่านมาถูกหล่อหลอมด้วยแนวคิดที่ล้วนลดทอนความรู้สึกของมนุษย์ต่อสิ่งก่อสร้างลงไป ตัวอย่างเช่น “การใช้รูปทรงตามการใช้สอย” (Form Follows Function) “น้อยแต่มาก” (Less is More) และ “การตกแต่งคืออาชญากรรมทางสถาปัตย์” (Ornament is Crime) ซึ่งแนวคิดเหล่านี้อาจเหมาะสมในช่วงเวลานั้นๆ แต่กลับทำลายจิตวิญญาณของเมืองไป เราได้แต่มองเห็นเมือง และอาคารที่ไร้เรื่องราว ไร้ความเฉพาะตัว และซ้ำซากจำเจ

เราเคยสร้างอาคารที่ทำให้เราได้ค้นพบตัวตนของเรา อาคารที่ดึงดูดความสนใจของผู้คน อาคารที่มีรายละเอียดชวนให้รู้สึกอัศจรรย์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป โลกกลับถูกทำให้เรียบง่ายเกินไป

เราตื่นเต้นที่จะได้นำ “ความลึกซึ้ง” กลับคืนสู่เมือง ทั้งรายละเอียด ความรู้สึก และเรื่องราวด้วยโครงการนี้ของนารายณ์

เราอยากรู้มากๆว่าอาคารแต่ละอาคารจะทำให้คนรู้สึกอย่างไร ซึ่งผมรู้ดีว่ามันอาจฟังดูไม่เท่สักเท่าไหร่ในวงการสถาปัตย์ แต่นั่นแหละคือวิธีที่เราสัมผัสอาคาร ไม่ใช่แค่วัตถุที่จับต้องได้เท่านั้น แต่เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความรู้สึก

รายละเอียดของสถาปัตยกรรม และความแตกต่างของอาคารในโครงการนี้?

แทนที่เราจะหลงใหลไปกับความเงาวับและความแข็งทื่อเป็นบล็อคๆของอาคาร เรากลับนั่งคุยกันถึงเรื่อง “ความนุ่มนวล” อยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่รู้ว่าความเป็นจริงแล้วตึกไม่ใช่สิ่งก่อสร้างที่นุ่มนวลเลย แต่นั่นแหละคือความท้าทายของบรีฟนี้

ถ้ามองตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว เราควรจะต้องสร้างสองตึก แต่จะทำอย่างไรให้อาคารสูงทั้งสองหลังนั้นยังคงความเป็นมนุษย์เอาไว้

จึงเกิดคำถามว่า “ตึกเป็นแค่สิ่งของอย่างหนึ่ง หรือจริงๆแล้วมันเป็นพื้นที่ที่มีส่วนประกอบที่หลากหลายก็ได้? การออกแบบควรเน้นที่ยอดตึกเป็นหลัก หรือพื้นที่ด้านล่างก็เป็นส่วนหลักได้?”

เราจึงมองตึกเป็นเหมือนกลุ่มของสิ่งก่อสร้าง แทนที่จะเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดมหึมาเพียงสิ่งเดียว

ตึกทั่วไปอาจจะเป็นศูนย์รวมที่เกิดกิจกรรมหลากหลายอยู่ภายในตึกซึ่งปกติจะถูกซ่อนไว้ แต่พวกเราอยากไฮไลต์ช่วงเวลาของการใช้ชีวิตเหล่านั้นออกมาให้คนที่อยู่นอกตึกสามารถมองเห็นและเข้าใจได้ด้วย

ผลลัพธ์ที่ได้ออกมา จึงเป็นชุดโคมไฟที่ซ้อนกันขึ้นไป แต่ละโคมมีรูปแบบที่นุ่มนวลเฉพาะตัว รวมกันเป็นภาพโครงสร้างที่อ่อนโยนกว่าตึกทั่วไปในเส้นขอบฟ้า

โคมไฟเหล่านี้ส่งผลต่อประสบการณ์ของมนุษย์อย่างไร?

เมื่อนึกถึงโคมไฟ ไม่ว่าวัสดุจะเป็นกระดาษหรือโลหะ ก็ต้องถูกเจาะหรือฉลุให้เกิดลวดลายและแสงเงา เราจึงนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างช่องว่างที่มีดีไซน์ที่น่าสนใจในตัวตึก

หากมองออกมาจากห้องของโรงแรม จะมองเห็นและรู้สึกแตกต่างจากหน้าต่างกระจกสี่เหลี่ยมจัตุรัสทั่วไป เพราะหน้าต่างเหล่านี้ให้มุมมองที่นุ่มนวล มีเท็กซ์เจอร์ และเปลี่ยนวิธีที่คุณมองวิวภายนอกไปโดยปริยาย

ในมุมมองที่กว้างขึ้น รูปทรงของโคมไฟที่ซ้อนกันตั้งแต่เส้นขอบฟ้าลงมาถึงระดับพื้นถนนนั้นจะทำให้ตึกดูไม่แข็งกระด้าง และให้แสงเงาที่ต่างจากอาคารแบบดั้งเดิม และแม้มองจากระยะใกล้ๆ ภายในห้อง หรือเดินผ่านหน้าร้านค้าก็ยังคงรู้สึกถึงความนุ่มนวลนั้น

ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นประสบการณ์การใช้เวลาภายในและรอบตัวอาคารที่มีบรรยากาศนุ่มนวลและกลมกลืนกันทั่วทั้งโครงการ

การออกแบบภูมิทัศน์สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมของอาคารอย่างไร?

ลักษณะของภูมิทัศน์บางอย่างทำให้เราครุ่นคิดถึงไอเดียว่าเราสามารถจำลองแสงเงาจากโคมไฟขึ้นได้

เมื่อนำไฟไปใส่ในโคมไฟที่มีลวดลายแล้วนั้น จะเกิดเป็นเงาบนพื้นดิน เราจึงทดลองออกแบบช่องบนตัวอาคาร และใช้หลักการเดียวกันนั้นเพื่อออกแบบภูมิทัศน์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโซนที่นั่งพัก กันสาด และองค์ประกอบอื่นๆของโครงการ

จึงเกิดเป็นความกลมกลืนของอาคารกับภูมิทัศน์โดยรอบ จากประสบการณ์ของเรา โครงการจะสมบูรณ์มากที่สุดต่อเมื่อทุกรายละเอียดให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในครอบครัวเดียวกัน และเมื่อเรื่องราวหลักส่งผลกระทบต่อเรื่องราวเล็กๆ

ประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงของถนนสีลมมีผลต่อแนวคิดของคุณอย่างไร?

ถนนสีลมเคยเป็นคลอง และถูกพัฒนาเป็นถนนสายหลักในเวลาต่อมา ถึงแม้เราไม่อาจย้อนเวลาไปกู้สายน้ำกลับมาได้ แต่เราสามารถบอกเล่าถึงเรื่องราวในอดีตได้ เราจึงใช้โอกาสนี้ในการนำเอาองค์ประกอบธรรมชาติ ซึ่งรวมไปถึง สายน้ำ ผิวสัมผัส และพื้นที่สาธารณะ กลับคืนมาสู่พื้นที่ภายในโครงการ

ถนนสีลมคือเส้นทางหลักที่เชื่อมต่อย่านต่างๆในเมืองกรุงเทพมหานคร เพราะฉะนั้นการสร้างสรรค์อะไรสักอย่างขึ้นมาในย่านนี้มีความหมายมากกว่าเพียงการสร้างสรรค์รูปร่างของตึก แต่มันคือการสร้างชีวิตชีวาและวัฒนธรรมที่มีความหมายให้กับเมือง

เราหลงใหลในการออกแบบพื้นที่สาธารณะ และโปรเจคนี้เป็นโอกาสที่เราจะได้ทดลองออกแบบพื้นที่สาธารณะบนถนนที่มีเอกลักษณ์ประจำตัวที่ชัดเจนอยู่แล้ว

คุณอยากให้พื้นที่สาธารณะนี้มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร?

หลายโครงการอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียโดยเฉพาะในเมืองร้อนมักจะเลือกสร้างห้างสรรพสินค้าที่มีระบบปรับอากาศโดยอัตโนมัติ จึงเกิดเป็นห้างสรรพสินค้าที่มีแต่พื้นที่ในอาคารที่บรรยากาศนานาชาติจนขาดเอกลักษณ์ไปในเวลาเพียงชั่วพริบตา

สิ่งที่น่าตื่นเต้นที่ผมได้อยู่ในกรุงเทพฯ คือ “ชีวิตบนถนน” ทั้งวัฒนธรรม พลังงาน และความไม่แน่นอนของการใช้ชีวิตนอกอาคาร โครงการนี้เปิดโอกาสให้เราสร้างพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ บนพื้นที่กว่า 7,000 ตร.ม. ที่มีหลังคากันฝน พรรณไม้ และทางน้ำ เพื่อให้ผู้คนอยากออกมาใช้ชีวิตบนท้องถนนและออกสำรวจมากขึ้น

จริงๆแล้วเคยมีคลองไหลผ่านกลางที่ดินผืนนี้ และเมืองกรุงเทพมหานครก็อยากนำความทรงจำจากอดีตกลับมา นี่คือความน่าสนุกของบรีฟนี้ ที่จะต้องออกแบบสถานที่ที่โปรดของผู้คน

ที่นี่ไม่ได้เป็นแค่สถานที่ที่ผู้คนแค่ผ่านมาแล้วผ่านไป แต่เป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถพบเจอกัน เพื่อใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ และสัมผัสประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของย่านนี้ในกรุงเทพฯ

ความประทับใจที่คุณมีต่อการทำงานกับทีมนารายณ์

ทุกบทสนทนากับทีมนารายณ์สร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเราเป็นอย่างมากมาก ความผูกพันที่ลึกซึ้งของครอบครัว

คุณปู่เป็นผู้สร้างโรงแรมนารายณ์ขึ้น ซึ่งในยุคนั้นนับเป็นโรงแรมที่ใช้จัดประชุมขนาดใหญ่แห่งแรกๆของกรุงเทพฯ ที่มีห้องอาหารหมุนได้ (Revolving Restaurant) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามากในยุคนั้น

และตอนนี้ พวกเขามีความกล้าที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและการสร้างสรรค์ใหม่